วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2559

นิราศนรินทร์

ที่มาของเรื่อง
นิราศนรินทร์คำโคลง แต่งขึ้นโดยนายนรินทรธิเบศร์ (อิน) มหาดเล็กหุ้มแพร รับราชการวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ ๒ นายนรินทรธิเบศร์แต่งนิราศเรื่องนี้ขึ้นเมื่อคราวตามเสด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เสด็จยกทัพหลวงไปปราบพม่าซึ่งยกลงมาที่เมืองถลางและชุมพร โดยเริ่มเรื่องด้วยร่ายสุภาพยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์ แล้วกล่าวถึงความเจริญของบ้านเมือง จากนั้นจึงรำพันถึงการจากนางอันเป็นที่รักและพรรณนาสถานที่ที่ผ่านไป นิราศเรื่องนี้นับว่าเป็นนิราศที่มีชื่อเสียงเรื่องหนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ เนื่องจากมีสำนวนโวหารไพเราะและมีคุณค่าในด้านวรรณศิลป์ จึงได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดของนิราศคำโคลง เหมาะสำหรับการนำไปเป็นแบบอย่างในการประพันธ์โคลงที่มีเนื้อหาเป็นการพรรณนาอารมณ์ ความรัก และธรรมชาติ ที่คงรูปแบบทางฉันทลักษณ์ร้อยกรองไทยได้เป็นอย่างดีของ

 ลักษณะการแต่ง
นิราศนรินทร์คำโคลง  แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทโคลงสี่สุภาพ  ๑๔๓ บท  โดยมีร่ายสุภาพขึ้นต้น  ๑ บท
.โคลงสี่สุภาพ
โคลงสี่สุภาพหนึ่งบทจะมี ๔ บรรทัด บรรทัดหนึ่งเรียกว่า  "บาท"  เพราะฉะนั้นโคลงสี่สุภาพหนึ่งบท จะมี ๔ บาท  ในบาทหนึ่งจะมี ๒ วรรค วรรคหน้าจะมี ๕ คำ  วรรคหลังของบาทที่ ๑ บาทที่ ๒ และบาทที่ ๓ จะมี ๒ คำ ส่วนวรรคหลังของบาทที่ ๔ จะมี ๔ คำ ซึ่งรวมแล้วโคลงสี่สุภาพหนึ่งบทจะมีจำนวนคำทั้งสิ้น ๓๐ คำ     ล
มีลักษณะบังคับ  ดังแผนผังต่อไปนี้


 ร่ายสุภาพ
บทหนึ่งมี ๕ วรรคขึ้นไป วรรคละ ๕ คำ จะมีกี่วรรคก็ได้ แต่เมื่อจบจะต้องจบด้วยโคลงสองสุภาพ    การสัมผัส คำสุดท้ายของวรรคหน้า ส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ ของวรรคต่อไป   คำสร้อย เติมได้ ๒ คำ ตอนจบบท                                                                                                                                     
มีลักษณะบังคับ  ดังแผนผังต่อไปนี้






จุดมุ่งหมาย
            นิราศนรินทร์คำโคลงนี้ถูกประพันธ์โดยนายนรินทรธิเบศร์ (อิน) เมื่อตามเสด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์และจากนางอันเป็นที่รัก มายกทัพหลวงไปปราบพม่าซึ่งยกลงมาที่เมืองถลางและชุมพร ผู้แต่งมีจุดประสงค์หลักในการคร่ำครวญถึงสตรีอันเป็นที่รักอยู่ห่างไกล ส่วนรายละเอียดอื่นๆเป็นเพียงส่วนประกอบ ในนิราศนี้มีการคร่ำครวญถึงนางอันเป็นที่รักอยู่เป็นส่วนใหญ่ เช่น
ใจความว่า  จำใจจากน้องด้วยความอาลัย ราวกับปลิดหัวใจพี่ไปจากนาง หากว่าหัวใจของพี่แบ่งเป็นสองซีกได้ ซีกหนึ่งเอาไว้กับตัว อีกซีกนั้นฝากไว้กับนาง
มีการพรรณนาถึงสถานที่ที่ไปแต่ใจความหลักยังคงมีเพียงการคร่ำครวญ เช่น
ใจความว่า “เรือมาถึงตำบลบ้านบ่อซึ่งน้ำแห้งหมด ไม่มีน้ำให้เห็นเลย มีแต่น้ำตาของพี่ที่เป็นเลือดไหลลามไปทั่ว นางผู้เป็นเบญจกัลยานีโปรดมาช่วยซับน้ำตาให้พี่ด้วย



ประวัติผู้แต่ง
นายนรินทรธิเบศร์ เดิมชื่อ อิน ได้รับราชการเป็น มหาดเล็ก ฝ่ายพระราชวังบวร (วังหน้า) ในสมัยรัชกาลที่  ได้รับพระราชทานยศเป็นหุ้มแพรมีบรรดาศักดิ์ที่ นายนรินทรธิเบศร์ จึงมักเรียกกันว่า นายนรินทรธิเบศร์ (อิน) คือใส่ชื่อเดิมเข้าไปด้วย   นายนรินทรธิเบศร์เป็นผู้แต่งนิราศคำโคลง ที่เรียกกันว่านิราศนรินทร์ตามชื่อผู้แต่ง ทว่าประวัติของนายนรินทรธิเบศร์ไม่ปรากฏรายละเอียดมากนัก ทราบแต่ว่ารับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๒ เท่านั้น        ในชั้นหลังเราได้ทราบประวัติของท่านจากหนังสือนิราศนรินทร์ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ โดยทรงเล่าเพิ่มเติมว่า “ นายนรินทรธิเบศร์ (อิน) ไม่ใคร่จะได้แต่งหนังสือไว้มากนัก และแต่งไว้บ้างก็ล้วนแต่เป็นโคลง ที่ปรากฏว่าเป็นกลอนนั้นน้อยเต็มที โคลงยอพระเกียรติตอนท้ายหนังสือปฐมมาลา  ก็เป็นฝีปากของนายนรินทร์ (อิน)  จึงสันนิษฐานว่านายนรินทรธิ-เบศร์ (อิน) ชอบโคลงมากกว่าคำประพันธ์อื่นๆ   ผลงานการประพันธ์ของนายนรินทรธิเบศร์นั้นไม่ปรากฏแพร่หลาย แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้ว่า “ ส่วนที่แต่งไว้ในที่อื่นๆ นั้น ไม่มีที่ใดจะเปรียบกับโคลงนิราศนี้ได้ ” แต่ทรงมิได้ระบุว่านายนรินทร์ได้แต่งเรื่องอื่นใดไว้นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีเพลงยาวอีกเรื่องหนึ่งที่กล่าวว่าเป็นของนายนรินทรธิเบศร์ นั่นคือเพลงยาวของนายนรินทร์ มีเนื้อความดังนี้
โฉมสุคนธารทิพย์ประทิ่นหอมหรือสาวสุรางค์นางฟ้ามาแปลงปลอมหรือนางจอม      ไกรลาศจำแลงลง
มาโลมโลกให้พี่หลงลานสวาสดิ์ประหลาดบาดตาแลตะลึงหลงควรแผ่แผ่นสุวรรณวาดให้สมทรงเกลือกจะคงจรจากพิมานจันทร์

พี่หมายน้องดุจปองปาริกชาติมณโฑไทเทวราชบนสวรรค์หากนิเวศน์นี้ศิวิไลสิไกลกันจะใฝ่ฝันดอกฟ้าสุมามาลย์ ฯ






เนื้อเรื่องย่อ
นิราศนรินทร์คำโคลงเริ่มเรื่องด้วยร่ายสุภาพยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์ แล้วกล่าวถึงความเจริญของบ้านเมือง จากนั้นจึงรำพันถึงการจากนางอันเป็นที่รักและพรรณนาสถานที่ที่ผ่านไป โดยนายนรินทรธิเบศร์ (อิน) ได้ออกเดินทางจากคลองขุด ผ่านวัดแจ้ง คลองบางกอก (ใหญ่) วัดหงส์ วัดสังข์กระจาย บางยี่เรือ (คลอง) ด่านนางนอง บางขุนเทียน บางบอน บางกก              หัวกระบือ โคกขาม คลองโคกเต่า มหาชัย ท่าจีน บ้านบ่อ นาขวาง คลองสามสิบสองคด คลองย่านซื่อแม่กลอง ปากน้ำ (ออกทะเล) บ้านแหลม คุ้งคดอ้อย เพชรบุรี ชะอำ ห้วยขมิ้น ท่าข้าม เมืองปราณ (บุรี) สามร้อยยอด ทุ่งโคแดง (ทุ่งวัวแดง) อ่าวนางรม (อ่าวประจวบ) บางสะพาน ขามสาวบ่าว อู่แห้ง เขาหมอนเจ้า โพสลับ ลับยักษ์ เมืองแม่น้ำ อู่สำเภา หนองบัว แก่งตุ่ม แก่งคุลาตีอก แก่งแก้ว (แก่งแก้วสงสาร) แก่งนางครวญ ปาก (ร่วม) น้ำ เขาเพชร จนถึงตระนาว (ตะนาวศรี) เป็นที่หมายปลายทาง



                                                          ข้อคิดที่ได้จากเรื่อง
1.พระบารมีของพระมหากษัตริย์นั้นเกิดแต่การบำเพ็ญกุศลทั้งในกาลก่อนและกาลปัจจุบัน
2.ศิลปะการก่อสร้างที่ประณีตงดงาม  ย่อมเป็นสิ่งดลใจให้กวีสร้างสรรค์บทประพันธ์ที่ประณีตไปด้วย
            3.ความห่วงใยหวงแหนอันเนื่องมาจากความรักของมนุษย์ เมื่อเกิดขึ้นกับคนที่มีอารมณ์กวี ย่อมจรรโลงใจให้แสดงออกซึ่งงานสร้างสรรค์บทประพันธ์ที่ประณีตไปด้วย
            4.วรรณคดีนิราศ แม้จะแสดงอารมณ์นึกคิดจินตนาการเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ให้ความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงบางประการของสังคมไว้ด้วย
            5.คติความเชื่อของอินเดียโบราณ มีอิทธิพลต่อความคิดของคนไทยเป็นอันมาก ความเชื่อ ในเรื่องสวรรค์ คนไทยมีความเชื่อว่าคนที่ทำความดีจะได้ขึ้นสวรรค์ คนทำชั่วจะตกนรก ดังนั้นจึงพยายามสร้างสมแต่สิ่งที่ดีงาม และมักจะเปรียบเทียบว่าถ้าเป็นของดี ของวิเศษ มักจะเปรียบกับของบนสวรรค์ ซึ่งตามความเชื่อของคนไทย สวรรค์แบ่งออกเป็น 6 ชั้น ดังนี้
               5.1 จตุมหาราชิก เป็นที่อยู่ของท้าวโลกบาลทั้ง 4
               5.2 ดาวดึงส์ เป็นที่สถิตของพระอินทร์
               5.3 ยามะ อยู่สูงกว่าดวงอาทิตย์ เป็นที่อยู่ของสยามเทวาธิราช
               5.4 ดุสิต เป็นที่อยู่ของสัมดุสิตเทวราช เป็นที่สถิตของพระโพธิสัตว์
               5.5 นิมมานนรดี เป็นที่อยู่ของเทวดาที่สามารถเนรมิตสิ่งใดก็ได้ตามความต้องการ
               5.6 ปรนิมมิตวสวัตตี เป็นสวรรค์ชั้นสูงสุด เป็นที่อยู่ของปรนิมมิตวสวัตตีเทพเจ้าและพระยามาราธิราช ผู้เป็นใหญ่แห่งหมู่มาร  


 คำศัพท์ที่น่าสนใจ

      พิศาลภพ
แผ่นดินอันกว้างใหญ่
      เลอหล้า
เหนือโลก บนโลก สูงเด่นในโลก
      ลบล่มสวรรค์
ลบ = ทำให้หายไป  ล่ม = ทำให้จม  เช่น       ล่มเรือ  หมายความว่า  ชนะเมืองสวรรค์
      จรรโลงโลก
พยุงโลก  ค้ำจุนโลก
      กว่ากว้าง
ให้กว้างขวางมาก
      แผ่นผ้าง
แผ่นพื้น
      เมืองเมรุ
เมืองที่ตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ  คือ  เมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
      ศรีอยุธเยนทร์
กรุงศรีอยุธยา หมายถึง ประเทศสยามก็ได้    แต่ในที่นี้หมายถึง  กรุงเทพฯ
      แย้มฟ้า
เบิกบานในท้องฟ้า   รุ่งเรืองในท้องฟ้า
      แจกแสงจ้า
ส่องแสงจ้า
      เจิดจันทน์
งามกว่าแสงจันทร์
      รพิพรรณ
แสงอาทิตย์
      ขุนหาญ
ขุนพล   แม่ทัพ
      ห้าว
กล้า
      แหนบาท
เฝ้าพระบาท   เฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน
      ส่ายเศิก
สลัดข้าศึก   ปราบข้าศึก
      เหลี้ยนล่งหล้า
เตียนตลอดโลก
      เภริน
กลอง
      เข็ญข่าวยิน
ได้ฟังข่าวอันน่ากลัว
      ยอบตัว
หมอบ
      ควบ
รวมกัน
      ละล้าว
เกรงกลัว
      ไท
ผู้เป็นใหญ่   พระเจ้าแผ่นดิน
      มาลย์
ดอกไม้  ในที่นี้คือ  ดอกไม้เงินดอกไม้ทองเป็นเครื่องบรรณาการ
      ขอออก
ขอขึ้น  ขอเป็นนอกเมือง
      อ้อมมาอ่อน
พยายามมาอ่อนน้อม
      แผ่นฟ้า
เมืองสวรรค์
      ให้แผ้ว
ให้แจ่มแจ้ง
      เลี้ยงทแกล้วให้กล้า
บำรุงทหารให้กล้าแข็ง
      พระยศไท้เทิดฟ้า
พระเกียรติยศพระองค์ (ไท้)  ชูเชิดถึงเมืองสวรรค์  (เทิดเชิด)
      ทศธรรม
ทศพิธราชธรรม  หมายถึง  ธรรม ๑๐ ประการของพระเจ้าแผ่นดิน  ได้แก่  ทาน  ศีล  บริจาค  ความซื่อตรง  ความอ่อนโยน  การข่มกิเลส  ความไม่โกรธ  ความไม่เบียดเบียน  ความอดทน    และความไม่ผิดจากธรรม
      สิงหาสน์
(สิงห+อาสน์)  ที่นั่งแห่งผู้มีอำนาจดังราชสีห์  คือ  พระที่นั่งพระเจ้าแผ่นดิน
      บรรเจิดหล้า
งามในโลก
      เพรง
เก่า  ก่อน
      บังอบาย
ปิดทางไปสู่ความชั่ว
      เบิกฟ้า
เปิดทางไปสู่ความดี
      ฝึกฟื้นใจเมือง
ฟื้นฟูจิตใจชาวเมืองให้พ้นจากความทุกข์
      ไตรรัตน์
แก้วสามดวง  คือ  พระพุทธ  พระธรรม  และพระสงฆ์  หมายถึง  พระพุทธศาสนา
      พันแสง
พระอาทิตย์
      เสียดยอด 
ยอดเบียดกัน
      แก้วเก้า
แก้ว ๙ อย่างที่เรียกว่า  นพรัตน์  คือ  เพชร  ทับทิม  มรกต  บุษราคัม  โกเมน  นิล  มุกดา  เพทาย  และไพฑูรย์
      แก่นหล้า
เป็นแก่นโลก  หลักโลก
      หลากสวรรค์
ล้นฟ้า  (หลาก ท่วม  ล้น  แปลกประหลาด  ต่างๆ)
      ระฆังขาน
ระฆังบอก  คือ  ระฆังตีบอกเวลา
      ก่ำฟ้า
สว่างทั่วท้องฟ้า  (ก่ำ  =  แดงจัด สุกจัด)
      เฟือน
ทำให้หมองลง
     
เปลื้องปลิดอก

พรากเอาหัวใจไป หมายความว่า  จำใจจากไป  ราวกับต้องปลิดหัวใจของตนเองไปจากนาง
      เยียวว่า
ถ้าว่า  แม้ว่า
      แล่ง
ผ่าออก
      เทพไท้
เทวดาผู้เป็นใหญ่
      ธรณินทร์
ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน  พระเจ้าแผ่นดิน
      กล้ำ
ในที่นี้หมายถึง  เชยชม
      เลื่อน
พาไป
      ชาย
พัด     
      ชัก
ทำให้
      อุมา
คือ  พระอุมา  ชายาพระอิศวร
      ลักษมี
คือ  พระลักษมี  ชายาพระนารายณ์
      สวยมภูว
พระผู้เป็นเอง  คือ  พระอิศวร
      จักรี
ผู้ทรงจักร  คือ  พระนารายณ์
      เกลือก
หาก  บางที
      ตรีโลก
สามโลก  คือ  มนุษย์  สวรรค์  บาดาล
      เมียงม่าน
แอบมองผ่านหลังม่าน
      คล่าว
ไหลหลั่ง
      เรือแผง
เรือมีม่านบัง  สำหรับกุลสตรีในสมัยก่อนนั่ง
      คล้อง
รับ
      บก
แห้ง
      ไล้
ลูบหรือทาละเลงทั่วไป
     เบญจลักษณ์
ลักษณะอันงดงาม ๕ ประการ ได้แก่  ผมงาม  เนื้องาม  ฟันงาม  ผิวงาม  และวัยงาม
      จาก
ชื่อต้นไม้ (กริยา = จาก)
      แจกก้าน
แตกกิ่งก้าน
      โท
สอง (เราทั้งสอง)
      ขำ
งาม
      ต่ายแต้ม
มีรูปรอยกระต่าย
      ตระนาว
ชื่อเมืองน่าจะหมายถึง  ตะนาวศรี
      ตระหน่ำ
ซ้ำเติม
      ท่ง
ทุ่ง
      หิมเวศ
หิมพานต์  เป็นชื่อป่าที่เชิงเขาพระสุเมรุ  ในที่นี้หมายถึงป่าทั่วๆไป
      พันเนตร
พระอินทร์  ซึ่งมีนามว่า  สหัสนัยน์
      พักตร์สี่แปดโสต
สี่หน้า  คือ  พระพรหม
      กฤษณะ
คือ  พระนารายณ์
      พิโยค
พลัดพราก
      ร่ำรื้อ
คร่ำครวญซ้ำไปซ้ำมา
      นทีสี่สมุทร
มหาสมุทรที่อยู่รอบเขาพระสุเมรุจากไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา  กล่าวว่า
ด้านทิศตะวันออก  ชื่อ  ขีรสาคร  มีน้ำสีขาว
ด้านทิศใต้  ชื่อ  นีลสาคร  มีสีน้ำเงินอมม่วง
ด้านทิศตะวันตก  ชื่อ  ผลิกสาคร  มีน้ำสีขาวใส
ด้านทิศเหนือ  ชื่อ  ปีตสาคร  มีน้ำสีเหลือง
      ติมิงคล์
ชื่อปลาใหญ่หนึ่งในเจ็ดตัวที่อยู่ในแม่น้ำสีทันดร
      ผาย
แผ่กว้างออกไป
      ผาด
ผ่าน  เคลื่อนไปอย่างเร็ว
      เถ้า
คำโทโทษ  คือ  เท่า
      รุม
ร้อน
      พวงมาเลศ
พวงดอกไม้  หมาถึง  นางอันเป็นที่รัก
      พิมล
ปราศจากมลทิน
      จาร
จารึก  บันทึก
      เลข
เขียนหนังสือ
      หยาดฟ้า
งามราวกับลงมาจากฟ้า
      ข้น
มาจากโค่น  หมายถึง  ล้ม  ทลายลง 
      หกฟ้า
สวรรค์ ๖ ช้น
      สี่หล้า
ทวีปทั้งสี่  คือ  อุตตรกุรุทวีป (เหนือ)  ชมพูทวีป (ใต้)  บุพพวิเทหทวีป (ตะวันออก)  อมรโคยานทวีป (ตะวันตก)
      ร่ำ
พูดซ้ำๆ
      กำสรวล
โศกเศร้า  คร่ำครวญ
      ครุ่น
บ่อย




 ความรู้เพิ่มเติม
โคลงนิราศหริภุญไชย
ประวัติ 
โคลงนิราศเรื่องนี้ กวีทางเหนือได้แต่ไว้เป็นภาษาเหนือ ต่อมามีผู้ถอดเป็นโคลงภาษาไทย ผู้ถอดไม่ปรากฏชื่อ แต่ผู้ถอดมีความเชี่ยวชาญในการแต่งโคลง และภาษาทางเหนือชำนาญพอจะถอดได้ดี จึงมักมีผู้เข้าใจว่า พระเยาวราชซึ่งมาอยู่อยุธยาสมัยพระนารายณ์ฯ เป็นผู้ที่มีฝีปาก มีเชิงกวี เป็นคู่แข่งของศรีปราชญ์ในการแต่งโคลงอยู่เสมอ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า โคลงนิราศเรื่องนี้แต่งอย่างช้าที่สุด พ.ศ. 2181 (อาจก่อนก็ได้) เพราะตามเนื้อเรื่องกล่าวว่า ผู้แต่งเป็นชาวเชียงใหม่ เพราะ พ.ศ. 2181 ตกในรัชกาลพระนารายณ์ฯ ก็นำมาถอดความ ผู้แต่งบอกปีแต่งไว้ว่า ปีเมิงเป้า” ซึ่งแปลว่า ปีฉลูศกที่ นับอย่างจีนตรงกับปีฉลู นพศก จ.ศ. 879
นายประเสริฐ ณ นคร ได้ศึกษาค้นคว้าโคลงนิราศเรื่องนี้ แสดงความเห็นว่า อาจแต่งในปี 2060 เพราะโคลงบทที่ 16 กล่าวว่าพระแก้วมรกตยังอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ ถ้าเป็นเวลาดังกล่าวจริงก็จะต้องเป็นเวลาระหว่าง พ.ศ. 2011-2091 ระหว่างเวลานั้นตรงกับปีเมิงเป้าเพียงปีเดียวคือ พ.ศ. 2060 (ระหว่างรัชกาล พระรามาธิบดีที่ 2) บ้างก็ว่าตรงกับรัชกาลสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ก่อนสมัยพระนารายณ์ฯ ถึง139 ปี  ปัจจุบัน โคลงเรื่องนี้มีต้นฉบับเหลือทั้งที่หอสมุดแห่งชาติ และเชียงใหม่
ผู้แต่ง 
สันนิษฐานว่า ผู้แต่งอาจชื่อ ทิพ” หรือ ศรีทิพย์” คำโคลงบ่งว่าเป็นเจ้า ซึ่งอาจเป็นหญิงที่กวีพรรณนาความรักความอาลัยถึง
ลักษณะการแต่ง เป็นโคลงสี่สุภาพ ฉบับหอพระสมุดกล่าวว่า มีจำนวน 178 โคลง ฉบับเชียงใหม่ว่ามี 180 โคลง นายประเสริฐ ณ นคร นับได้ 183 โคลง แต่มีโคลงซ้ำและเพิ่มเติม น่าจะมีจริงแค่ 180 โคลง
ความมุ่งหมาย 
ผู้แต่งเดิมมีความมุ่งหมายเพื่อบรรยายความรู้สึกที่ต้องจากนางเป็นที่รักไปนมัสการพระธาตุหริภุญไชย ส่วนผู้ถอดโคลงเป็นภาษาไทยกลางสันนิษฐานว่า มีความประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่ง

กาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาท

ประวัติ
บางท่านเรียกว่า กาพย์ห่อโคลงนิราศ” มีลักษณะพิเศษคือ เป็นนิราศกาพย์เรื่องแรกในวรรณคดีไทย เพราะบรรดานิราศทั้งหลายเท่าที่ผ่านมามักแต่งเป็นโคลงและกลอน แต่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงนำ กาพย์ห่อโคลงไปแต่งเป็นนิราศ
ผู้แต่ง เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร
ลักษณะการแต่ง ใช้กาพย์ยานีกับโคลงสี่สุภาพสลับกัน แบบกาพย์ห่อโคลง
ความมุ่งหมาย สันนิษฐานว่า แต่งเพื่อแข่งขันโคลงทวาทศมาส เพราะผ่านตำบลใดก็รำพึงรำพันถึงนาง โดยใช้เวลาเช่นเดียวกับทวาทศมาศ
นิราศลอนดอน
ผู้แต่ง     หม่อมราโชทัย
ความเป็นมา
            พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่โปรดให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ เป็นราชทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับอังกฤษจุดมุ่งหมายนิราศลอนดอนนี้หม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย) ได้แต่งขึ้นในคราวได้ร่วมไปในคณะราชทูตไทยเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศอังกฤษในรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2400 ได้แต่งพร้อมกับจดหมายราชทูตไทยไปอังกฤษ


รูปแบบการแต่ง
            แต่งเป็นกลอนนิราศมีความยาว 2,414 คำกลอน เป็นเรื่องที่ยาวที่สุดในวรรณคดีประเภทนิราศ ตอนท้ายของเรื่องเป็นกลอนกลบท กบเต้นต่อยหอยหรือละลอกแก้วกระทบฝั่งและจบลงด้วยโคลงสี่สุภาพ 5 บท หม่อมราโชทัยได้บอกไว้ในตอนท้ายโคลงบทที่ 2 ความว่า
ตัวเราเกลากล่าวเกลี้ยง                            กลอนไข
คือหม่อมราโชทัย                                    ที่ตั้ง
แสดงโดยแต่จริงใจ                                  จำจด มานา
ห่อนจักพลิกแพลงพลั้ง                            พลาดถ้อยความแถลงฯ
โคลงกำสรวล

โคลงกำสรวล
ผู้แต่ง 
เคยเชื่อกันมาแต่เดิมว่า ศรีปราชญ์ผู้แต่งโคลงกำสรวลถูกเนรเทศไปนครศรีธรรมราช ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และหญิงที่ศรีปราชญ์คร่ำครวญอาลัย คือ พระสนมศรีจุฬาลักษณ์ แต่มีผู้ออกความเห็นค้านความเชื่อดังกล่าวว่าเรื่องโคลงกำสรวล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวถึงเส้นทางการเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาไปสุดแค่จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ ทั้งไม่ได้กล่าวถึงความทุกข์ร้อนและมูลที่ต้องเนรเทศ เมื่อพิจารณาถึงลักษณะคำประพันธ์และถ้อยคำสำนวนภาษาที่ใช้โคลงกำสรวลน่าจะแต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น 
ทำนองแต่ง
แต่งด้วยโคลงตั้งบาทกุญชร บทแรกเป็นร่ายดั้น มีร่าย ๑ บท โคลงดั้น ๑๒๙ บท
ความมุ่งหมาย
เพื่อแสดงความอาลัยคนรัก ซึ่งผู้แต่งต้องจากไป
เรื่องย่อ  
เริ่มด้วยร่ายสดุดีกรุงศรีอยุธยาว่ารุ่งเรืองงดงาม เป็นศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนา ราษฎรสมบูรณ์พูนสุข ต่อจากนั้นกล่าวถึงการที่ต้องจากนาง แสดงความห่วงใย ไม่แน่ใจว่าควรจะฝากนางไว้กับผู้ใด  เดินทางผ่านตำบลหนึ่ง ๆ ก็รำพันเปรียบเทียบชื่อตำบลเข้ากับความอาลัยที่มีต่อนาง ตำบลที่ผ่าน เช่น บางกะจะ  เกาะเรียน  ด่านขนอน  บางไทรนาง  บางขดาน  ย่านขวาง  ราชคราม ทุ่งพญาเมือง   ทะเลเชิงราก  นอกจากนี้ได้นำบุคคลในวรรณคดีมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในชีวิต ของตน เกิดความทุกข์ระทมที่ยังไม่ได้พบนางอีกอย่างบุคคลในวรรณคดีเหล่านั้น   โดยกล่าวถึง พระรามกับนางสีดา   พระสูตรธนู(สุธนู)กับนางจิราประภา   และพระสมุทรโฆษกับนางพิษทุมดีว่าต่างได้อยู่ร่วมกันอีก ภายหลังที่ต้องจากกันชั่วเวลาหนึ่ง การพรรณนาสถานที่สิ้นสุดลงโดยที่ไม่ถึงนครศรีธรรมราช

นิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง
ผู้แต่ง
            พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ความเป็นมา
            ทรงพระราชนิพนธ์เสด็จกรีฑาทัพไปตีพม่าที่ท่าดินแดง ปลายน้ำไทรโยคจังหวัดกาญจนบุรี เป็นนิราศเรื่องแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงนิพนธ์ได้ไพเราะไม่เยิ่นเย้อ มีความเปรียบเทียบดี นับเป็นนิราศเรื่องแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของไทย
รูปแบบการแต่ง
            แต่งเป็นกลอนเพลงยาวในลักษณะนิราศ วัตถุประสงค์ในการแต่ง คือ
1. เพื่อเป็นการบันทึกเหตุการณ์สำคัญไว้เป็นหลักฐาน
2. เพื่อแก้ความรำคาญและความเหนื่อยอ่อนในการเดินทางไกลไปรบกับพม่าโดยทางเรือ
3. เพื่อเป็นกำลังใจแก่กวีทั้งปวงจะได้มีกำลังใจในการแต่งกวีให้ดีให้มีชื่อเสียงเพราะขนาดพระมหากษัตริย์ก็ยังทรงหาเวลาพระราชนิพนธ์บทกวี
สาระสำคัญ
            เริ่มต้นเป็นการรำพึงรำพันถึงคนรัก อันได้แก่ พระมเหสีและพระสนม จากนั้นมีการพรรณนาถึงสถานที่ต่าง ๆ ที่ผ่านมาพบเห็นในการเสด็จทางชลมารคหรือทางน้ำ ตามทางสถลมารคหรือทางบก เมื่อไปถึงกาญจนบุรี ทรงตั้งค่ายอยู่ที่ด่านท่าขนอน ทรงบรรยายถึงการรบกับพม่าจนได้รับชัยชนะ

เขตตะนาวศรี
เขตตะนาวศรี (Tanintharyi Division/หรือชื่อเดิมคือ Tenasserim Division) ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของพม่าโดยทิศเหนือของเขตตะนาวศรีติดกับรัฐมอญ (Mon State) ทิศตะวันตกและทิศใต้ติดกับทะเลอันดามัน ส่วนทิศตะวันออกติดกับจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ชุมพร และระนองของไทย เขตตะนาวศรีมีพื้นที่ 43,328 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรกว่า 1.3 ล้านคน เมืองหลวง คือ เมืองทวาย (Dawei หรือ Tavoy) โดยแบ่งพื้นที่การปกครองเป็น 3 จังหวัด ได้แก่ ทวาย มะริด (Myeik) และเกาะสอง (Kawthaung) ทั้งนี้ เขตตะนาวศรีเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สําคัญของพม่า เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติ อุดมสมบูรณ์ทั้งก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุและอัญมณีมีค่า ทรัพยากรประมง พื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ  ซึ่งดึงดูด ให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ จากทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง



เขาพระสุเมรุ
เขาพระสุเมรุ ตั้งอยู่เหนือพื้นน้ำ 84,000 โยชน์ ใต้เขาพระสุเมรุมีภูเขารองรับเป็นฐาน 3 ลูก เรียกว่า ตรีกูฏ (สามเส้าหรือสามยอด) มีภูเขาล้อมรอบ 7 ทิว เรียกว่า สัณบริภัณฑคีรี” มีความสูงลดหลั่นกันลงไปทีละครึ่ง เป็นที่สถิตของเทวดาจตุมหาราชิก และบริวาร แต่ละทิวเขาคั่นด้วยแม่น้ำทั้งเจ็ด โดยทิวเขาทั้งเจ็ด ได้แก่ ทิวเขายุคนธร (ขอบเขาพระสุเมรุ เป็นที่ของพระอาทิตย์และพระจันทร์)กรวิก (นกกรวิก)อิสินธร (มหิทสรเทวบุตร),  สุทัศนะ (ว่านยาวิเศษ)เนมินธร (ปทุมชาติขนาดใหญ่)วินันตก (มารดาพญาครุฑ) และอัสกัณ (ไม้กำยาน) ถัดออกไปเป็น มหานทีสีทันดร ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ โดยมีเกาะหรือมหาทวีปอยู่ตรงทิศทั้งสี่ ของเขาพระสุเมรุ (ในมหาทวีปทั้ง 4 ยังมีทวีปน้อยๆ เป็นบริวารอีก 2000 ทวีป) คือ            
– อุตตรกุรุทวีป อยู่ทางทิศเหนือ มีมหาสมุทร ชื่อ ปิตสาคร มีน้ำสีเหลือง           
– บุรพวิเทหทวีป อยู่ทางทิศตะวันออก มีมหาสมุทร ชื่อ ขีรสาคร เกษียรสมุทร น้ำสีขาว (มีตำนาน กวนเกษียรสมุทร)          
 – ชมพูทวีป อยู่ทางทิศใต้ มีมหาสมุทร ชื่อ นิลสาคร มีน้ำสีเขียว           
– อมรโคยานทวีป อยู่ทางทิศตะวันตก มีมหาสมุทร ชื่อ ผลิกสาคร มีน้ำใสสะอาดเหมือนแก้วผลึก ถัดจาก มหานทีสีทันดร จะมีภูเขาเหล็กกั้นทะเลนี้ไว้รอบ เรียกว่า ขอบจักรวาล” พ้นไปนอกนั้นเป็นนอกขอบจักรวาล
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นสวรรค์ชั้นหนึ่ง ของ ฉกามาพจร (สวรรค์ที่เกี่ยวข้องกับความรัก) สวรรค์ฉกามาพจร มีดังนี้
          1. จตุมหาราชิก เป็นที่อยู่ของท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 มี ท้าวกุเวร” (บางทีเรียกว่า ท้าวเวสสุวรรณ) รักษาทางทิศอุดร มีพวกยักษ์เป็นบริวาร ท้าวธตรฐ” รักษาทางทิศบูรพา มีพวกคนธรรพ์เป็นบริวาร ท้าววิรุฬหก” รักษาทางทิศทักษิณ มี พวกุมภัณฑ์ (อสูรจำพวกหนึ่ง) เป็นบริวาร ท้าววิรุฬปักษ์” รักษาทางทิศประจิม มีฝูงนาคเป็นบริวาร
          2. ดาวดึงส์ มีวิมานอยู่บนเขาพระสุเมรุ มีพระอินทร์เป็นใหญ่
 3. ยามา มีท้าวสยามเทวราชปกครอง
             4. ดุสิต มีท้าวสันนุสิต เป็นใหญ่ สวรรค์ชั้นนี้กล่าวกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ คือ เป็นที่เกิดแห่งพระโพธิสัตว์ในชาติที่กำลังบำเพ็ญบารมี และยังเป็นสวรรค์ชั้น ที่พุทธบิดามารดา และผู้มีบุญวาสนาอื่นๆ อีกมาก เคยถือกำเนิดเป็นเทวดา ในสวรรค์ชั้นนี้ ในวรรณคดีไทยกล่าวถึงสวรรค์ชั้นนี้มาก
            5. นิมมานรดี มีท้าวสุนิมมิตปกครอง เทวดาผู้สถิตในสวรรค์ชั้นนี้มีบุญญานุภาพ มาก มีความประสงค์สิ่งใด ก็เนรมิตได้สมความปราถนา
            6. ปรนิมมิตวสวัสดี มีท้าวปรินิมมิตวสวัสดี ปกครอง สวรรค์ชั้นนี้มีความเป็นอยู่ สุขสบายกว่าทุกชั้น แม้จะเนรมิตอะไร ก็มีเทวดาชั้นที่ 5 เนรมิตให้ มีป่าหิมพานต์ เป็นที่อยู่ของ สัตว์หิมพานต์” ชนิดต่าง ๆ มีสระอยู่ 7 สระ คือ สระอโนดาต มันทากินี กุณาล สหัปปดาต กัณมุณฑ์ รดาการ ฉัททันต์ สระที่รู้จักกันดีคือ สระอโนดาต มีภูเขาล้อมรอบ 5 ลูก คือ
              – เขาสุทัศนกูฏ ซึ่งล้วนไปด้วยทอง
              – เขาจิตรกูฏ ซึ่งล้วนไปด้วยแก้ว
              – เขากาลกูฏ ล้วนแล้วด้วยนิลมณี
              – เขาไกรลาส ล้วนแล้วด้วยเงิน ที่สถิตของพระอิศวร
              – คันธมาทกูฏ ล้วนแล้วด้วยแก้วมณีและพันธ์ไม้หอมต่างๆ บางชนิดดอกหอม บางชนิดเปลือกหอม บางชนิดยางหมอ บางชนิดรากหอม เขานี้ ถ้าเดือนมืดจะแลเห็นรุ่งเรือง เหมือนถ่านเพลิงอันลุกโชน ถ้าเดือนหงาย ก็เรืองเหมือนไฟไหม้ป่า ส่วนที่เชิงเขามีผาชะโงก เรียกว่า นันทมูล เป็นที่ซึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายโปรดประทับ มีถ้ำคูหา 3 แห่ง คือ สุวรรณคูหา มณีคูหา และรัชฏคูหา



บทวิเคราะห์

         นิราศนรินทร์คำโครงทุกบทเปรียบเสมือนเพชรน้ำเอกที่ได้รับการเจียระไนอย่างงดงามมีความโดดเด่นทั้งถ้อยคำ  ถ้อยความ  และโวหารเปรียบเทียบที่ลึกซึ้งกินใจ  เปี่ยมด้วยศิลปะการประพันธ์หลายประการ ดังนี้
ด้านกลวิธีการแต่ง
     ๑) การใช้คำ  กวีเลือกใช้คำที่งดงามทั้งรูป  ความหมาย  และเสียงที่ไพเราะ  โดยเฉพาะร่ายสดุดีที่มีลักษณะเด่นสะดุดความสนใจ  เพราะเป็นบทสดุดีที่ไม่มีลักษณะขรึมขลังศักดิ์สิทธิ์จนเกินไป  แต่งามสง่าและไพเราะยิ่ง  ไม่เรียบง่ายดาดๆ  เหมือนร่ายสุภาพที่แต่งกันทั่วๆไป  ทั้งนี้เกิดจากการเลือกใช้ถ้อยคำและโวหารของกวีที่งามเด่นทั้งรูป  เสียง  และความหมายอย่างกลมกลืนกัน  อาทิ
            ๑.๑)  การเลือกสรรคำเหมาะกับเนื้อเรื่อง
                     ในร่ายวรรค  เลอหล้าลบล่มสวรรค์  นั้นจะเห็นได้ว่านอกจากกวีตั้งใจจะเล่นเสียงสัมผัสพยัญชนะให้ไพเราะแล้ว  ยังให้ความหมายที่ดีเยี่ยม  กวีใช้คำ  เลอ  ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรว่า  เหนือ  บน  แต่คำนี้โดยปกติมักจะเห็นใช้คู่กับคำ  เลิศ หรือ เลอเลิศ  เป็นเลิศเป็นยอดมิได้  จึงให้ความรู้สึกว่า  เลอเลิศ  นั้นมิได้หมายถึงว่ากรุงรัตนโกสินทร์ตั้งอยู่บนโลกเท่านั้น  แต่ยังแลดูเด่นสง่าเป็นเลิศอีกด้วย  ซึ่งความหมายที่ได้นี้จะส่งข้อความต่อเนื่องไปตามวลีตามมาคือ  ลบล่มสวรรค์  ซึ่งหมายถึง  ความเด่นสง่าของกรุงรัตนโกสินทร์นั้น  ทำให้ความงามของสวรรค์ถูกทำลายให้สูญสิ้นจมหายไป (จากความรู้สึกของผู้อ่าน)
                    แย้มฟ้า  เป็นตัวอย่างของการเลือกใช้คำง่ายที่มีรูปคำงาม  เสียงไพเราะและมีความหมายดี  ให้ภาพที่ชัดเจนว่ากรุงรัตนโกสินทร์นั้นเผยโฉมเด่นงามในท้องฟ้า  (สอดคล้องกับกวีได้สดุดีไว้แล้วว่า เลอหล้าลบล่มสวรรค์)
                วลี  เหลี้ยนล่งหล้า  นั้นนอกจากกวีจะเน้นความโดยตรงใช้คำทั้ง  เหลี้ยน  (เลี่ยน)  และ  ส่ง  (โล่ง)  ซึ่งให้ความรู้สึกเกลี้ยนว่างโดยตลอดแล้ว  เสียงของคำทั้ง  เหลี้ยน  ล่ง  และ  หล้า      ยังสื่อย้ำถึงความกว้างไกลอย่างสุดลูกหูลูกตาของแผ่นดิน  มองดูปลอดโปร่งสบายตาไม่รู้สึก  อึดอัด  เพราะปราศจากสิ่งขัดขวางใดๆ  (ศัตรู)  อนึ่ง กวีได้เน้นย้ำความเกลี้ยงว่างหรือความราบเรียบจริงๆ อีกชั้นหนึ่ง  โดยการใช้ภาพพจน์อุปลักษณ์เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าง  เหมือนกับพื้นผิวหน้ากลอง
                โดยรูปศัพท์แล้วกวีมิได้ใช้คำศัพท์ยาก  คือ  ไม่ใคร่มีคำบาลี สันสกฤต  หรือสนธิสมาสมากนัก  แต่ในทางความหมายนั้น  จำต้องอ่านตีคำถ้อยคำโวหารที่กวีนำมาเรียบเรียงเข้าด้วยกันอย่างพิถีพิถัน  ต้องทราบทั้งความหมายโดยตรงและความหมายโดยนัย  เพราะกวีจะใช้บริบทที่แปลกไปจากที่นักเรียนคุ้นเคย  อีกทั้งในแต่ละวรรค  กวีใช้คำอย่างประหยัดอีกด้วย
                 อนึ่ง  การที่กวีมุ่งความไพเราะอย่างยิ่งของเสียงของคำ  เสียงสัมผัสในที่เป็นพยัญชนะในแต่ละวรรค  อีกทั้งจังหวะของร่ายนั้นได้เป็นข้อจำกัดอีกด้านหนึ่งที่ทำให้การอ่านร่ายบทนี้ต้องใช้ทั้งความรู้ทางด้านภาษาและจินตนาการเพื่อเข้าถึงอย่างลึกซึ้ง
                 ส่วนโครงแต่ละบทนั้น  ก็งดงามยิ่งทั้งเสียงและความหมาย  โดยเฉพาะบางบทที่มีเนื้อหาคร่ำครวญถึงนางอันเป็นที่รัก จะสังเกตได้ว่าแม้จะแต่งเป็นโคลง  แต่กวีก็ยังใช้ศิลปะในการประพันธ์ดังเดิม  เพียงแต่จะมีลีลาและท่วงทำนองแตกต่างกันไปตามลักษณะของเนื้อหา  เช่น  โคลงบทที่ว่า
                                  โอ้ศรีเสาวลักษณ์ล้ำ                     แลโลม  โลกเอย
                     แม้ว่ามีกิ่งโพยม                                        ยื่นหล้า
                    แขวนขวัญนุชชูโฉม                                  แมกเมฆ  ไว้แม่
                   กีดบ่มีกิ่งฟ้า                                                 ฝากน้องนางเดียว
                ความเด่นของโคลงบทนี้อยู่ที่เนื้อหาซึ่งแสดงจินตนาการอันแปลก  โลดโผน  และมีชีวิตชีวา   ส่วนด้านวิธีการประพันธ์นั้นอุดมด้วยศิลปะการประพันธ์ที่สูงมาก  ทำให้โคลงบทนี้งดงามและไพเราะซาบซึ้ง
                     เมื่อกวีจะต้องจากนาง  กวีเริ่มคิดว่า  ตนควรจะฝากนางไวที่ใด  กับใคร  จึงจะปลอดภัยเนื่องจากรักและยกย่องนางมาก  สถานที่ที่เหมาะสมแก่การฝากนางจึงควรอยู่ในที่สูง คือบนฟ้าหรือบนสวรรค์นั่นเอง  ดังนั้น  กวีจึงคิดฝากนางแขวนไว้บนกิ่งฟ้า  กวีขึ้นต้นโคลงบทนี้ด้วยคำว่า   โอ้  ซึ่งเป็นคำที่แสดงถึงการรำพึงรำพันคร่ำครวญของกวีด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล   โดยมีคำ  เอย  รับในตอนจบบาทแรก
                    ส่วนคำและโวหารอื่นๆ  ต่อจากนี้  จะเห็นว่ากวีพยายามเฟ้นคำมาใช้อย่างประณีตเพื่อเสียงอันไพเราะ  แลกการสื่อความได้อย่างมีน้ำหนัก  เช่น  กล่าวถึงนางว่า ศรีเสาวลักษณ์ล้ำ  คือนางผู้มีความงดงามเป็นเลิศ  โดยผู้อ่านจะรู้สึกได้จากรูปคำ  ศรี  และ  เสาวลักษณ์  ซึ่งเป็นคำในระดับสูง  ว่านางได้งามอย่างธรรมดา  แต่คงงามสง่าเป็นที่ประโลมใจแก่ผู้ได้พบเห็น   การที่กวีใช้วลี  แลโลมโลก  นั้นเป็นโวหารที่ไพเราะ สั้นแต่กินความมาก
                    คำ กิ่งโพยม  หรือ  กิ่งฟ้า  เป็นคำที่มีรูปคำงาม  เสียงไพเราะ  และกระตุ้นจินตนาการได้ดี  คำ  ขวัญนุช  แม่  น้องนาง  ล้วนเป็นคำที่อ่อนหวาน  บ่งบอกถึงความรักของกวีที่มีต่อนางอย่างลึกซึ้ง  ส่วนคำว่า  เดียว  นั้นย้ำให้คิดว่า  กวีไม่เคยมีนางอื่นใดอยู่ในใจอีก  นอกจากนางอันเป็นที่รักนี้เพียงผู้เดียว   เพราะเหตุนี้กวีจึงว้าวุ่นใจนักเมื่อต้องจากนาง
               แมกเมฆ  เป็นโวหารที่มีเสียงไพเราะยิ่ง  คำที่เรียงกันอย่างมีน้ำหนักเสียงเท่ากัน  ทั้งพยัญชนะ   สระ  ตัวสะกด  และวรรณยุกต์  ส่วนคำว่า  กีด  ซึ่งกวีเลือกมาใช้ได้อย่างเหมาะเจาะในที่นี้เป็นคำที่มีเสียงหนักและความหมายแรง  สื่อถึงอุปสรรคที่ทำให้จินตนาการของกวีพังทลายลง
                    เมื่อพิจารณารวมกันทั้งบทแล้ว  ผู้อ่านจะได้รับรสแห่งความอ่อนหวานของถ้อยคำและโวหารกวี   ที่แสดงถึงความรัก  ความห่วงหาอาทรที่มีต่อนางอย่างเต็มที่  ชวนให้คิดตามอ่านต่อไปว่าเมื่อฝากนางไว้กับกิ่งฟ้ามิได้  กวีจะฝากนางไว้กับใคร
                    ความงามของร้อยกรองในด้านการเสนอเนื้อเรื่องกระชับเข้มข้น   อันจักทำได้เพราะการกำหนดคณะ    จำกัดคำตามลักษณะการแต่ง   เพราะฉะนั้นกวีจึงต้องเลือกคำที่มีความหมายชัดเจน   เช่น
                                    เอียงอกเทออกอ้าง           อวดองค์  อรเอย
                      เมรุชุบสมุทรดินลง                      เลขแต้ม
                     อากาศจักจานผจง                       จารึก    พอฤๅ
                     โฉมแม่หยาดฟ้าแย้ม                      อยู่ร้อนฤๅเห็น              
                    เล่นคำที่ไม่มีบัญญัติบังคับ    การเล่นคำประเภทนี้หมายถึงว่า   กวีผู้แต่งสมัครใจจะเล่นถ้อยคำเองไม่มีบัญญัติบังคับไว้    โดยมุ่งหมายจะให้คำประพันธ์ตอนใดตอนหนึ่งเด่นชัดขึ้น   และมีความไพเราะจับใจยิ่งขึ้น    ตัวอย่างเช่น
                                   คิดไปใจป่วนปิ้ม  จักคืน
                         ใจหนึ่งเกรงราชขืน              ข่มคร้าม
                         ใจหนึ่งป่วนปานปิ่น                  ปักปวด ทรวงนา
                         ใจเจ็บฝืนใจห้าม             ห่อนเจ้าเห็น
               ๑.๒การเลือกสรรคำที่มีเสียงเสนาะ
                   สัมผัส  กวีเล่นเสียงสัมผัสทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษรภายในวรรคและระหว่างวรรค  เพื่อเพิ่มความไพเราะ  เช่น
                                    ถึงตระนาวตระหน่ำซ้ำ                 สงสาร  อรเอย
                    จรศึกโศกมานาน                       เนิ่นช้า
                    เดินดงท่งทางละหาน                   หิมเวศ
                    สารสั่งทุกหย่อมหญ้า                    ย่านน้ำลานาง
สัมผัสสระ          หน่ำ-ซ้ำ  ดง-ท่ง
สัมผัสอักษร       ตระนาว-ตระหน่ำ  สง-สาร อร-เอย ศึก-โศก
                          เดิน-ดง ท่ง-ทาง สาร-สั่ง หย่อม-หญ้า    
สัมผัสระหว่างวรรค     ซ้ำ-สง(สารนาน-เนิ่น หาน-หิม (เวิศหญ้า-ย่าน
                การเล่นคำ กวีใช้คำเดียวกันหลายแห่งในบทประพันธ์หนึ่งบท แต่คำที่ซ้ำกันนั้นมีความหมายต่างกัน เช่น
                                     เห็นจากจากแจกก้าน                      แกมระกำ
                    ถนัดระกำกรรมจำ                          จากช้า
                    บาปใดที่โททำ                             แทนเท่า  ราแม่
                    จากแต่คาบนี้หน้า                          พี่น้องคงถนอม
                  กวีเล่นคำที่ออกเสียงว่า จาก ซึ่งหมายถึง ต้นจาก และ จากน้องมา กับคำที่ออกเสียงพ้องกันว่า กำ ซึ่งหมาถึง ต้นระกำ ความระกำช้ำใจ และ เวรกรรม
              ภาพพจน์
           .การเปรียบเทียบเกินจริง คือการกล่าวเกินจริง เพื่อให้ได้คุณค่าทางด้านอารมณ์เป็นสำคัญ เช่นในโครงบทที่ ๑๓๘ ที่ว่า
                                      
                                    เอียงอกเทออกอ้าง                          อวดองค์ อรเอย
                    เมรุชุบสมุทรดินลง                   เลขแต้ม
                    อากาศจักจารผจง                    จารึก พอฤา
                   โฉมแม่หยาดฟ้าแย้ม                  อยู่ร้อนฤๅเห็น                                   
              กวีใช้คำ เอียงอกเทแทนสิ่งที่อยู่ในใจใช้เขาพระสุเมรชุบน้ำและดินแทนปากกา เขียนข้อความในอากาศ ซึ่งเป็นลักษณะที่เกินความเป็นจริง
              ส่วนบทที่แสดงการคร่ำครวญของนางอันเป็นที่รัก ไม่มีบทใดหนักแน่นเท่ากับ โครงบทที่ ๑๔ว่า
                                     ตราบขุนคิริข้น                  ขาดสลาย  แลแม่
                    รักบ่หายตราบหาย                  หกฟ้า
                    สุริยจันทรขจาย                     จากโลก  ไปฤา
                    ไฟแล่นล้างสี่หล้า                   ห่อนล้างอาลัย
                   
                    โครงบทนี้เป็นตัวอย่างของการใช้กวีโวหารเปรียบเทียบที่โลดโผน   อีกบทหนึ่ง ใช้ภาพพจน์ชนิดอธิพจน์   ซึ่งเป็นการกล่าวเกินจริงเพื่อสร้างอารมณ์และความรู้สึกในที่นี้เมื่ออ่านแล้วนักเรียนจะเห็นโอกาสที่กวีจะสิ้นอาลัยนางมิอาจเป็นไปได้เลย   เพราะกว่าที่ขุนเขา สวรรค์ทั้งหกชั้น ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ จะสูญสลาย ไปจากโลกนั้น คงนานแสนนานจนกำหนดนับมิได้และกว่าจะมีไฟบรรลัยกัลป์  มาล้างโลกทั้ง ๔ นั้นก็จะต้องกินระยะเวลาอันยาวนานที่ไม่อาจนับได้เช่นกัน   ดังนั้น โครงบทนี้จึงเป็นเป็นโครงปิดฉากการคร่ำครวญได้อย่างงดงาม โดยการ    ให้ปฏิญญาที่มีน้ำหนักมากที่สุดแก่นางคือ  กวีจะมิมีวันสิ้นรักและอาลัยนางนั่นเอง

                       .การใช้บุคคลวัต กวีใช้สมมติต่างๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ให้มีกิริยาอาการ
ความรู้สึกเหมือนมนุษย์
                                   จากมามาลิ่วล้ำ                        ลำบาง
                    บางยี่เรือราพลาง                      พี่พร้อง
                   เรือแผงช่วยพานาง                     เมียงม่าน  มานา
                   บางบ่รับคำคล้อง                       คล่าวน้ำตาคลอ
                 จะเห็นได้ว่า กวีใช้บางยี่เรือและเรือแผงให้มีกิริยาเหมือนมนุษย์ คือให้บางยี่เรือช่วยเอาเรือแผงไปรับนางมา แต่บางยี่เรือก็ไม่รับคำ
              การพูดเกินความจริง  (อติพจน์)   เพื่อเน้นความรู้สึก   มิใช่เพื่อหลอกลวง    ตัวอย่างเช่น
                                      ตราบขุนคิริข้น                     ขาดสลาย  แลแม่
                          รักบ่หายตราบหาย                    หกฟ้า
                        สุริยจันทรขจาย                        จากโลก   ไปฤๅ
                        ไฟแล่นล้างสี่หล้า                      ห่อนล้างอาลัย       
                   การพรรณนาอย่างต้องตีความ   จึงจะเข้าใจความหมายชัดเจน  เช่น  ตอนชมภรรยาว่างามนัก  จนไม่รู้ว่าจะฝากนางไว้ที่ใดจึงจะพ้นอันตราย
                                      โฉมควรจักฝากฟ้า              ฤๅดิน    ดีฤๅ
                        เกรงเทพไทธรณินทร์                          ลอบกล้ำ
                       ฝากลมเลื่อนโฉมบิน                            บนเล่า
                      ลมจะชายชักช้ำ                                 ชอกเนื้อเรียมสงวน      

            ด้านศาสนา
            กวีย่อมแสดงความศรัทธาต่อศาสนา   โดยระบายความรู้สึกออกมาทางวรรณคดีอยู่เนืองๆ ได้แก่
                                      เรืองเรืองไตรรัตน์พ้น             พันแสง
                        รินรินรสพระธรรมแสดง                 ค่ำเช้า
                       เจดีย์ระดะแซง                                     เสียดยอด
                      ยลยิ่งแสงแก้วเก้า                        แก่นหล้าหลากสวรรค์


          ด้านสังคม
         ๑นิราศนรินทร์คำโคลงมีเนื้อหาสาระที่จรรโลงวัฒนธรรมและจริยธรรมของสังคมโดยเนื้อหากล่าวถึงบ้านเมืองที่งดงามด้วยวัดและปราสาทราชวัง พระพุทธศาสนารุ่งเรือง ประชาชนก็ซาบซึ้งในพระธรรมคำสอน ซึ่งความเจริญและความสงบสุขทั้งปวงนี้เกิดจากพระบารมีของพระมหากษัตริย์
         นิราศนรินทร์คำโคลงมีคุณค่าที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยรัชกาลที่ ๒ สภาพของสังคมของบ้านเมืองในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี

                 นิราศนรินทร์คำโคลง เป็นตัวอย่างของโครงนิราศชั้นเยี่ยมที่เปี่ยมด้วยความไพเราะและคุณค่าทางวรรณศิลป์ เหมาะสำหรับเยาวชนจะนำไปใช้เป็นแบบอย่างในการประพันธ์โครงที่มีเนื้อหาการพรรณนาอารมณ์ ความรัก และธรรมชาติ รวมทั้งรูปแบบทางฉันทลักษณ์ของร้อยกลองไทยได้เป็นอย่างดี